วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

คุณค่าของศิลปะไทย


จะว่าผู้สอนเป็นพวกนิยมคลั่งชาติ หรือจะว่าสร้างกระแสให้คนรักชาติ รักศิลปะไทยก็ยอม
ในเรื่องความหมายของศิลปะไทย นักศึกษาหลายคน คงบอกได้แล้วว่าหมายถึงอะไร โดยไม่ต้องให้เรียนจบวิชานี้ก่อนถึงจะรู้ความหมาย
มีผู้รู้หลายท่านให้คำนิยามที่แตกต่างและเหมือนหรือสอดคล้องกันไปต่าง ๆ นานา ตามประสบการณ์ที่ตนเองได้ปะทะสัมพันธ์ด้วย แต่ถ้าเป็นความคิดเห็นของครู เห็นว่าศิลปะไทย คือสิ่งที่คนไทยสร้างขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของตน จากบริบทของสังคม บ่งบอกถึงลักษณะของความเป็นไทย
ทำไมต้องคนไทยเท่านั้นหรือที่สร้างขึ้น ฝรั่งได้หรือไม่ที่สร้างศิลปะไทย
ได้ แต่อาจจะขาดวิญญาณ ในที่นี้เราเรียนรู้ศิลปะไทย จากบรรพบุรุษที่เป็นคนไทยสร้างขึ้น เรามีฐานการรับรู้ว่า ศิลปะไทยคือศิลปะประจำชาติ ที่ถูกสั่งสมความดีงามมาด้วยคนไทยด้วยกันเอง ถ่ายทอดมาแล้วครั้งแล้วครั้งเล่า
เพราะฉะนั้น จึงให้ความสำคัญว่าคนไทยสร้างขึ้นด้วยหัวใจและวิญญาณแห่งความเป็นไทย
จะว่าผู้สอนเป็นพวกนิยมคลั่งชาติ หรือจะว่าสร้างกระแสให้คนรักชาติ รักศิลปะไทยก็ยอม
หากนักศึกษามีข้อความคิดเห็นแตกต่าง ถือว่าเป็นสิ่งดี
พูดถึงลักษณะความเป็นไทย ค่อนข้างกว้างมากว่า อะไรบ้างที่แสดงความเป็นไทย ในทางทัศนศิลป์ ความเป็นไทยจะเกี่ยวข้องกับการมอง(Looking) การเห็น (Seeing) มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย พูดให้โก้ว่ามีอัตลักษณ์ของตนเอง(Self-identification)
เอกลักษณ์ของศิลปะไทย จะแสดงความรู้สึกอ่อนหวาน นุ่มนวล ละเอียด วิจิตรประณีตบรรจง มีเหตุผลในการแสดงออก มีความยั่งยืนในการถ่ายทอด คือมีระเบียบแบบแผนเฉพาะตน เช่น บอกได้ว่ามีที่มามาจากอะไร มีแหล่งบันดาลใจจากสิ่งใด เป็นต้น
ส่วนประเภทศิลปะไทยโดยทั่วไป จะพูดถึงงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับจิตรกรรมไทย ประติมากรรมไทย สถาปัตยกรรมไทย วรรณกรรมไทยและนาฏดุริยางค์กรรมไทย
ลักษณะ รายละเอียดแต่ละประเภทมีงานอะไร เป็นนักศึกษาเอกศิลปะไม่รู้คงเป็นไปไม่ได้
เมื่อคราวที่แล้วพูดถึงเรื่องสิ่งที่เป็นประจำชาติ ประจำถิ่นได้นั้น ต้องผ่านการลองผิดลองถูก ถูกด่า ถูกวิจารณ์ ถูกการสังเคราะห์ มีการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งจนตกเป็นผลึก เป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง ในที่นี้หมายถึงความเป็นชาติ กระทั่งทำให้คนในสังคมนั้นเกิดการยอมรับได้ เห็นได้ทั้งรูปแบบ เนื้อหาและคุณค่า
แล้วคุณค่าของศิลปะไทยดูได้จากอะไร มิติใดบ้าง
ถ้าพูดถึงคุณค่า (Value) คือสิ่งที่เป็นของมีค่า เป็นประโยชน์ เป็นที่นิยม ราคาแพง อันนี้เรามองตามมิติด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ตีค่าสิ่งของเป็นผลกำไรหรือผลประโยชน์
แต่ถ้าเป็นมิติคุณค่าทางศิลปะ จะเกี่ยวข้องกับความงาม ความมีสุนทรียะ ความดีงามที่ไม่ต้องการผลกำไรหรือตอบแทนมากกว่าความสนองตอบทางจิตใจ จะตีค่าออกมาเป็นราคาค่างวดไม่ได้
เราจึงมักได้ยินว่าศิลปินไส้แห้งกันมานาน
แต่ในปัจจุบัน การสนองตอบทางจิตใจอย่างเดียวคงทำให้ศิลปินไส้แห้งจริง ๆ หากไม่มีการประยุกต์ใช้ ระหว่างคุณค่าทางความดีงามกับผลประโยชน์ที่ได้รับจากความงาม
อย่างไรก็ตามคุณค่าของศิลปะไทย มีนักวิชาการทางศิลปะ และ ศิลปินมองคุณค่าแตกต่างกัน เช่น มองจิตรกรรมไทยเป็นคุณค่าทางเรื่องราว คุณค่าทางรูปทรง คุณค่าทางธรรมชาติ
เมื่อประมวลถึงการมองคุณค่าของศิลปะไทยแล้ว การแสดงออกของเรื่องราว รูปทรงต่าง ๆ จะเกี่ยวข้องกับความเชื่อ ความงาม ประโยชน์ใช้สอยและความรู้สึกที่เกิดขึ้น
คุณค่าทางความเชื่อ สังคมไทยไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใด แสดงออกในเรื่องราวของความเชื่ออยู่ทุกมิติของสังคม ซึ่งผูกพันอยู่กับความเชื่อเรื่องผี เรื่องศาสนา เรื่องกฎแห่งกรรม บันดาลใจให้ผู้สร้างผลิตออกมาเป็นพิธีกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และงานศิลปกรรมประเภทต่าง ๆ สืบทอดต่อกันมา ให้ประโยชน์ต่อชุมชนต่อตนเอง เกิดผลดีในการดำรงชีวิต ช่วยกระตุ้นให้คนเกิดความรักชาติ รักสถาบัน ประพฤติตนอยู่ในกรอบของจารีต พระธรรมคำสั่งสอน เช่น ภาพเกี่ยวกับนรก สวรรค์ เรื่องชาดก เป็นต้น
คุณค่าทางความงามหรือสุนทรียะ เป็นพื้นฐานสำคัญของผู้สร้างหรือศิลปินมาทุกยุคทุกสมัย การที่จะสร้างสรรค์ศิลปกรรมสักอย่างหนึ่ง ผู้นั้นต้องมีแรงบันดาลใจจากเรื่องของความเชื่อ และความงามที่ตนเองมองสิ่งนั้น ๆ อยู่ ศิลปินไม่ได้มองสิ่งที่ตนเองสนใจเพียงผิวเผิน แต่มักจะมองสิ่งนั้นอย่างตั้งใจ เราถือว่า ศิลปินเป็นผู้เห็นสิ่ง ๆ นั้นได้มากกว่าคนทั่วไป
ศิลปินจะเห็นความงามจาการเป็นไปเลื่อนไหลของเส้น รูปร่าง รูปทรง สีสันที่ตนมองเห็น มา สร้างให้เกิดงานที่วิจิตรบรรจงและความสมบูรณ์ขึ้นในภาพจิตรกรรม ในวัดที่มีชื่อเสียงเช่นวิหารลายคำวัดพระสิงห์ วัดภูมินทร์ และวัดอื่น ๆ ที่แสดงงานจิตรกรรมบนฝาผนัง แสดงให้เห็นการดำเนินชีวิตในสมัยก่อน เห็นเรื่องบาป บุญคุณโทษของการประพฤติปฏิบัติ โดยมีฐานของความเชื่อผนวกกับการมองความงามต่อสิ่งรอบข้างของศิลปิน ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพให้คนในสมัยนี้ได้เรียนรู้กัน
พูดถึงความมีสุนทรียะ ของศิลปินและคนในสมัยก่อนกับสมัยปัจจุบัน มีความกล้าในการแสดงออกต่างกัน เรามักเห็นภาพกิจกรรมทางเพศบนฝาผนังวัดอยู่หลายแห่ง หรือกิจกรรมของชุมชนในยุคที่ศิลปินนั้นสร้างขึ้น ในขณะที่ศิลปินหรือคนยุคนี้ยังไม่กล้าพอที่จะบันทึกภาพกิจกรรมทางสังคมยุคนี้ไว้บนผนังวัด เพราะด้วยการไม่ยอมรับความจริงของคนในสังคม เราจึงเรียนรู้กับสิ่งที่เป็นอดีตกันค่อนข้างมาก
คุณค่าทางด้านประโยชน์ใช้สอย เป็นเรื่องสามัญสำนึกของผู้สร้างงานศิลปกรรม ที่มองถึงประโยชน์ใช้สอยและการสนองตอบต่อความสะดวกสบายของคนในชุมชนและตนเอง ไม่มีศิลปินหรือผู้สร้างคนใดอดทนจากการถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ตนเองไม่เห็นประโยชน์ได้นาน
อย่างน้อยความคิดที่ถูกกลั่นให้เป็นงานศิลปกรรมจะแสดงหรือแฝงเร้นในงานนั้น ๆ มีให้เห็นอยู่เสมอ เช่น ท่าทางตลกขบขันในงานจิตรกรรมแทรกในภาพชาดก การคิดลวดลายต่าง ๆ ประดับในมุมของประติมากรรม สถาปัตยกรรม เป็นต้น
คุณค่าทางความรู้สึก งานศิลปะทุกประเภทส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับความงามที่ให้ความรู้สึกต่าง ๆ แทบทั้งสิ้น ศิลปินผู้สร้างสามารถกำหนดให้ภาพที่แสดงออกนั้นมีความรู้อย่างไร เมื่อมีผู้ เช่น เรามองภาพหลายภาพเรารู้สึกเกลียดชังตัวตนที่ถูกถ่ายทอดออกมา อย่างเราเกลียดภาพชูชกเฒ่าที่มีแต่ตัณหาราคะปฏิบัติต่อพระกัณหาพระชาลี อย่างทรมาน เราศรัทธาเลื่อมใสต่อองค์พระปฏิมา เพราะถ่ายทอดออกมาอย่างงดงามลงตัว เราเห็นภาพพระ ภาพนาง ภาพยักษ์ ล้วนมีความรู้สึกที่แตกต่างกันไป เป็นต้น
บางคนและหลายคนมองความงามศิลปะไทยที่เป็นนามธรรมนั้นมีเพียงสองมิติ ไม่เหมือนธรรมชาติ มีเส้นโค้งไม่หลากหลาย สู้ความงามที่เป็นธรรมชาติหรือเป็นรูปธรรมอย่างศิลปะตะวันตกไม่ได้
คุณค่าทางความรู้สึกในงานศิลปะไทย จึงเป็นคุณค่าของจิตที่ถูกกระทบด้วยการมองและการเห็นโดยตรง แล้วถูกวินิจฉัยด้วยสมองตามประสบการณ์ ความรู้ สิ่งแวดล้อมของผู้นั้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม คุณค่าทางศิลปะไทย ไม่จำกัดเฉพาะเพียงที่กล่าวมา คุณค่าอาจจะเปลี่ยนไปตามกระแสของสังคม และความต้องการของคนหมู่ใหญ่ โดยเฉพาะการคิดก้าวหน้าจนหลุดโลก จะทำให้ศิลปะไทยถูกประยุกต์ไปสนองตอบต่อระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ง่าย
แต่เราฐานะผู้เรียนรู้ ผู้ศึกษาศิลปะไทยจากความดีงามในอดีต จะช่วยดำรงสถานะ ลักษณะความเป็นตัวตนของศิลปะไทยได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับความเข้าใจ การรับรู้เห็นคุณค่าของศิลปะไทยที่ไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็น”ไท”และความเป็นตัวของตัวเราเอง
สรุปจากการบรรยายวิชาศิลปะไทย อ.ศักราช ฟ้าขาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น